วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554




บุคคลที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายหรือสุขภาพ


ความหมาย
                บุคคลที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายหรือสุขภาพ  หมายถึง  บุคคลที่มีปัญหาทางการเคลื่อนไหวอวัยวะไม่สมส่วน  อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งหรือหลายส่วนขาดหายไป  กระดูกและกล้ามเนื้อพิการ  เจ็บป่วยเรื้อรังรุนแรง  มีความพิการของระบบประสาท  มีความลำบากในการเคลื่อนไหว  ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการจัดการศึกษาในสภาพปกติและต้องอาศัยการฝึกฝน  การใช้เครื่องมือ  วัสดุ  อุปกรณ์หรือต้องการเครื่องอำนวยความสะดวกเข้าช่วย




ลักษณะอาการ
                อาการบกพร่องทางร่างกาย ที่มักพบบ่อย ได้แก่
                1. ซีพี หรือ ซีรีรัล พัลซี (C.P. : Cerebral Passy) หมายถึง การเป็นอัมพาตเนื่องจากระบบประสาทสมองพิการหรือเป็นผลมาจากสมองที่กำลังพัฒนาถูกทำลายก่อนคลอด อันเนื่องมาจากการขาดอากาศ ออกซิเจนฯ เด็กซีพี มีความบกพร่องที่เกิดจากส่วนต่างๆ ของสมองแตกต่างกัน ที่พบส่วนใหญ่ คือ
                                1.1 อัมพาตเกร็งของแขนขา หรือครึ่งซีก (Spastic)
                                1.2 อัมพาตของลีลาการเคลื่อนไหวผิดปกติ (Athetoid) จะควบคุมการเคลื่อนไหวและบังคับไปในทิศทางที่ต้องการไม่ได้
                                1.3 อัมพาตสูญเสียการทรงตัว (Ataxia) การประสานงานของอวัยวะไม่ดี
                                1.4 อัมพาตตึงแข็ง (Rigid) การเคลื่อนไหวแข็งช้า ร่างการมีการสั่นกระตุกอย่างบังคับไม่ได้
                                1.5 อัมพาตแบบผสม (Mixed)
                2. กล้ามเนื้ออ่อนแรง (Muscular Distrophy) เกิดจากประสาทสมองที่ควบคุมส่วนของกล้ามเนื้อส่วนนั้นๆ เสื่อมสลายตัว โดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้กล้ามเนื้อแขนขาจะค่อย ๆ อ่อนกำลัง เด็กจะเดินหกล้มบ่อย
                3. โรคทางระบบกระดูกกล้ามเนื้อ (Orthopedic) ที่พบบ่อย ได้แก่
                                3.1 ระบบกระดูกกล้ามเนื้อพิการแต่กำเนิด เช่น เท้าปุก (Club Foot) กระดูกข้อสะโพกเคลื่อน อัมพาตครึ่งท่อนเนื่องจากกระดูกไขสันหลังส่วนล่างไม่ติด
                                3.2 ระบบกระดูกกล้ามเนื้อพิการด้วยโรคติดเชื้อ (Infection) เช่น วัณโรค กระดูกหลังโกง กระดูกผุ เป็นแผลเรื้อรังมีหนอง
                                3.3 กระดูกหัก ข้อเคลื่อน ข้ออักเสบ มีความพิการเนื่องจากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง
                4. โปลิโอ (Poliomyelitis) เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งเข้าสู่ร่างกายทางปาก แล้วไปเจริญต่อมน้ำเหลืองในลำคอ ลำไส้เล็ก และเข้าสู่กระแสเลือดจนถึงระบบประสาทส่วนกลาง เมื่อเซลล์ประสาทบังคับกล้ามเนื้อถูกทำลาย แขนหรือขาจะไม่มีกำลังในการเคลื่อนไหว
                5. แขนขาด้วนแต่กำเนิด (Limb Deficiency) รวมถึงเด็กที่เกิดมาด้วยลักษณะของอวัยวะที่มีความเจริญเติบโตผิดปกติ เช่น นิ้วมือติดกัน 3-4 นิ้ว มีแค่แขนท่อนบนต่อกับนิ้วมือ ไม่มีข้อศอก หรือเด็กที่แขนขาด้วนเนื่องจากประสบอุบัติเหตุ และการเกิดอันตรายในวัยเด็ก
                6. โรคกระดูกอ่อน (Osteogenesis Imperfeta) เป็นผลทำให้เด็กไม่เจริญเติบโตสมวัย ตัวเตี้ย มีลักษณะของกระดูกผิดปกติ กระดูกยาวบิดเบี้ยวเห็นได้ชุดจากระดูกหน้าแข็ง

                - ความบกพร่องทางสุขภาพ ที่มักพบบ่อย ได้แก่
                1. โรคสมชัก (Epilepsy) เป็นลักษณะอาการที่เกิดเนื่องมาจากความผิดปกติของระบบสมองที่พบบ่อยมีดังนี้
                                1.1 ลมบ้าหมู (Grand Mal)
                                1.2 การชักในช่วยเวลาสั้น ๆ (Petit Mal)
                                1.3 การชักแบบรุนแรง (Grand Mal)
                                1.4 อาการชักแบบพาร์ชัล คอมเพล็กซ์ (Partial Complex)
                                1.5 อาการไม่รู้สึกตัว (Focal Partial)
                2. โรคระบบทางเดินหายใจโดยมีอาการเรื้อรังของโรคปอด (Asthma) เช่น หอบหืด วัณโรค ปอดบวม
                3. โรคเบาหวานในเด็ก เกิดจากร่างกายไม่สามารถใช้กลูโคสได้อย่างปกติ เพราะขาดอินชูลิน
                4. โรคข้ออักเสบรูมาตอย มีอาการปวดตามข้อเข่า ข้อเท้า ข้อศอก ข้อนิ้วมือ
                5. โรคศีรษะโต เนื่องมาจากน้ำคั่งในสมอง ส่วนมากเป็นมาแต่กำเนิด ถ้าได้รับการวินิจฉัยโรคเร็วและรับการรักษาอย่างถูกต้องสภาพความพิการจะไม่รุนแรง เด็กสามารถปรับสภาพได้และมีพื้นฐานทางสมรรถภาพดีเช่นเด็กปกติ
               6. โรคหัวใจ (Cardiac Conditions) ส่วนมากเป็นตั้งแต่กำเนิด เด็กจะตัวเล็กเติบโตไม่สมอายุ ซีดเซียว เหนื่อยหอบง่าย อ่อนเพลีย ไม่แข็งแรงตั้งแต่กำเนิด
               7. โรคมะเร็ง (Cancer) ส่วนมากเป็นมะเร็งเม็ดโลหิต และเนื้องอกในดวงตา สมอง กระตูก และไต
                8. บาดเจ็บแล้วเลือดไหลไม่หยุด (Hemophilia)


วิธีการดูแล
                1. เด็กเหล่านี้ เป็นเด็กที่ต้องการพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่นเดียวกับเด็กปกติ  เช่น  การดูแลเอาใจใส่ ความรัก  ความเมตตา  การเลี้ยงดูอย่างเด็กปกติ  จะทำให้เด็กเหล่านี้ไม่มีปัญหาทางอารมณ์และจิตใจภายหลัง
                2. การเรียนรู้เกี่ยวกับความผิดปกติหรือความบกพร่องของเด็กเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับ  ผู้ที่เกี่ยวข้องจะเข้าใจและยอมรับสภาพของเด็ก  รวมถึงหาทางช่วยเหลือเด็กได้ถูกต้อง  ซึ่งทำได้โดยการพูดคุยปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ
                3. พาเด็กออกสู่สังคม  แนะนำพี่น้อง  ญาติ  เพื่อนๆ  ให้รู้จักเด็กและความพิการของเขาเสียแต่เนิ่นๆ  และควรพาออกไปสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้เขาได้รู้จักช่วยตนเอง และเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง
                4. การฝึกหัดในการทำกิจกรรมต่างๆ  ควรเริ่มจากกิจกรรมที่ง่ายๆ  ก่อนเพื่อให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจและเป็นแรงจูงใจในการทำกิจกรรมต่างๆ ที่ยากขึ้น
                5. เปิดโอกาสให้เด็กได้ฝึกฝนกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเอง  เพราะ  เด็กเหล่านี้จะทำด้วยความเชื่องช้าเสียเวลาในการทำมากหรือเลอะเทอะ  ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเข้าใจ  ให้เขาได้ฝึกฝนทำเอง  ทำบ่อยๆ ซ้ำๆ  เพื่อให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้
                6. พ่อ  แม่  ผู้ปกครอง  ควรให้ความร่วมมือกับทีมผู้รักษา  เมื่อได้รับคำแนะนำวิธีการบำบัดอย่างง่ายๆ ควรนำไปปฏิบัติกับเด็กที่บ้าน  เวลาของเด็กส่วนใหญ่จะอยู่กับบ้านมากกว่าสถานพยาบาล  การเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดของพ่อแม่ผู้ปกครองจะช่วยเหลือเด็กได้มาก
                7. การฝึกหัดเด็ก  จะต้องทำอย่างสม่ำเสมอและด้วยอารมณ์มั่นคง  มีเหตุผลเมื่อเด็กทำผิด  จะถูกทำโทษทันที  เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่ถูกต้องและเข้าใจง่ายไม่สับสน
                8. สังเกตการเปลี่ยนแปลงของเด็กอย่างสม่ำเสมอและให้ความสนใจต่อการเปลี่ยนแปลงนั้นเมื่อมีปัญหาหรืออาจมีปัญหาเกิดขึ้นให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ  เพื่อให้การแก้ไขได้อย่างทันเหตุการณ์และถูกต้องต่อไป
                9. การให้กำลังใจ  บุคคลที่มีเกี่ยวข้องกับเด็ก  เช่น  พ่อ  ปู่  ย่า  ตา  ยาย  ญาติพี่น้องควรให้กำลังใจแก่แม่   ตลอดจนช่วยในการเลี้ยงดูและอบรมเด็กด้วย

                กิจกรรมการช่วยเหลือบุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือสุขภาพ
                1. ฝึกการใช้สายตาและมือทั่วไป  เช่น  การต่อก้อนไม้  การปั้นดินน้ำมัน  การวาดภาพระบายสี  การตัดด้วยกรรไกร  ฯลฯ
                2. ฝึกการเคลื่อนไหวในลักษณะต่างๆ  เช่น  การใช้มือและสายตาในท่าการนอนหงาย  การเคลื่อนไหวในท่านอนคว่ำ  ท่านั่งและท่ายืน  การเดิน  การวิ่ง  การกระโดด  การใช้กระดานทรงตัว  การรับและส่งลูกบอล  การลากของเล่นที่มีล้อ
                3. ฝึกการช่วยเหลือตนเอง  เช่น  การรับประทานอาหารและดื่มน้ำ  การแต่งตัว  การขับถ่าย  การอาบน้ำ การสวมเสื้อผ้า  ฯลฯ
                4. ฝึกการรับรู้เสียงและการแสดงสีหน้าท่าทางและคำพูด  พยายามพูดกับลูกของตนเองให้มากที่สุดและพยายามสร้างคำพูดให้เป็นประโยคฝึกการรับรู้เรื่องรูปทรง  ขนาด  ทิศทาง  เวลา  สีและการแก้ปัญหาฝึกการปฏิบัติตามคำสั่ง  การฝึกลีลามือ  การเขียนตัวอักษรและการอ่าน  การทำกายภาพบำบัดกิจกรรมบำบัด  ฯลฯ

                แนวทางการรักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพบุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือสุขภาพ
                1. ตรวจพบและให้การรักษาฟื้นฟูแต่เนิ่นๆ  ยิ่งพบความผิดปกติได้เร็วและให้การรักษาได้เร็ว  ยิ่งเป็นการดีเท่านั้น
                2. ป้องกันไม่ให้เกิดความพิการเพิ่มมากขึ้นหรือทำให้เกิดพิการซ้ำซ้อน  โดยให้ความรู้แก่บุคคลให้สนใจเอาใจใส่เด็กที่มีประวัติการตั้งครรภ์ผิดปกติ  คลอดผิดปกติหรือมีความผิดปกติหลังคลอด  ให้ได้รับการดูแลติดตามจากแพทย์ตั้งแต่เริ่มต้น  เพื่อให้ได้รับการประเมินสภาพ  วินิจฉัย  ให้คำแนะนำและรักษาต่อเนื่อง

                การรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์
                1. การให้ยาหรือรักษาอาการผิดปกติ  เช่น  อาการเกร็ง  อาการชัก  เป็นต้น
                2. การทำกายภาพบำบัด  เพื่อลดเกร็ง  กระตุ้นพัฒนาการของเด็กและฝึกการเคลื่อนไหวต่างๆ
                3. การทำกิจกรรมบำบัดหรือฝึกการใช้มือ  ฝึกกิจวัตรประจำวัน  ฝึกการใช้อุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มหน้าที่ของมือและการฝึกการกลืน  เป็นต้น
                4. การฝึกพูด  เพื่อให้เด็กสามารถติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นได้  ในรายที่พูดไม่ได้อาจมีการฝึกใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ช่วยในการสื่อสาร
                5. การฝึกการขับถ่ายให้เป็นเวลาและให้ขับถ่ายได้หมดจด  โดยไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน  เช่น  ไตสูญเสียหน้าที่ในเด็กที่มีปัญหาในการควบคุมการขับถ่าย
                6. การดูแลป้องกันไม่ให้เกิดแผลกดทับ
                7. ให้กายอุปกรณ์  เพื่อช่วยพยุงข้อและกล้ามเนื้อให้อวัยวะเทียม  เช่น  แขนขาเทียมและรถเข็นนั่งที่เหมาะสมกับสภาพความพิการ
                8. การฉีดยาเพื่อลดเกร็ง
                9. การผ่าตัด เพื่อแก้ไข เมื่อความพิการนั้น ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ
                10. ให้การฝึกพื้นฐานทางกีฬา และนันทนาการ เพื่อส่งเสริมสมรรถภาพของร่างกาย ส่วนที่ไม่ พิการและปรับตัวเพื่อเข้าสังคม


                การฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านสังคม
                มีการฝึกพัฒนาทักษะด้านสังคมเพื่อให้คนที่บกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ สามารถอยู่ในสังคม ร่วมกับคนทั่วไปอย่างมีความสุข สามารถมีกิจกรรมในการพักผ่อนหย่อนใจเช่นเดียวกับคนปกติ สามารถพัฒนาศักยภาพในการศึกษา เพื่อความเพลิดเพลินเพื่อการแข่งขันเช่นเดียวกับผู้ไม่พิการ

                การฟื้นฟูสมรรถภาพทางอาชีพ
                การฝึกอาชีพให้สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้โดยไม่ถูกกีดกันจากระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ

                การบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพ
                เป็นการฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายตั้งแต่เริ่มแรกในด้านต่างๆ เช่น การเดินการยืนเพื่อกระตุ้นให้เคลื่อนไหวร่างกายได้ถูกต้อง การทำกายภาพบำบัดจะใช้วิธีการฝึกออกกำลัง เพื่อเพิ่มกำลังของ กล้ามเนื้อ และเป็นการรักษาบางส่วนร่วมด้วย เช่น การป้องกันความพิการ การใช้ความร้อนเพื่อลดปวด

                การบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพและการช่วยเหลือเด็กให้อยู่ในท่าที่เหมาะสม
                การบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพ  เป็นการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายตั้งแต่เริ่มแรกพบความผิดปกติในด้านต่างๆ เช่น การนอน การคว่ำ การนั่ง การเดิน และการยืน เพื่อกระตุ้นให้เคลื่อนไหวร่างกายได้ ถูกต้อง การทำกายภาพบำบัดจะใช้วิธีการฝึกออกกำลัง เพื่อเพิ่มกำลังของกล้ามเนื้อ และเป็นการรักษา บางส่วนร่วมด้วย




วิธีการสอน
                การจัดการศึกษาสำหรับคนที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือสุขภาพ  ควรใช้หลักการทั่วไปที่ใช้ในการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการประเภทต่างๆ  ดังนี้
                1. จัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษของแต่ละคน  โดยจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล  (Individualized Education Program = IEP)
                2. จัดให้คนพิการได้รับสื่อ  สิ่งอำนวยความสะดวก  บริการและความช่วยเหลือตามความต้องการจำเป็นพิเศษของแต่ละคนอย่างครบถ้วนและมีประสิทธิภาพ
                3. จัดทำแผนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ

                การจัดหลักสูตรในแต่ละระดับ
                ระดับการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรมี  3  ระดับ  คือ
                                1. ระดับวัยก่อนเรียน  หลักสูตรสำหรับบุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกายในระดับนี้  ควรเน้นเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวและการสื่อสาร  (การสื่อความหมาย)  การเคลื่อนไหวรวมไปถึงการพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่ (แขน ขา)  และกล้ามเนื้อเล็ก  (นิ้วมือ)  จุดมุ่งหมายสำคัญของการเตรียมความพร้อมในระดับนี้  คือ  ให้เด็กสามารถเคลื่อนไหวได้โดยไม่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้อื่นมากนัก
                                ปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งของเด็กประเภทนี้  คือ  การพูดและภาษา  ซึ่งในบางรายอาจช้ากว่าเด็กปกติ  จุดมุ่งหมายของหลักสูตร  คือ  การพัฒนาทักษะด้านการพูดและภาษาของเด็กให้สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้
                                2. ระดับประถมศึกษา  หลักสูตรในระดับประถมศึกษาอาจเป็นหลักสูตรเดียวกันกับที่ใช้สำหรับเด็กปกติ  แต่ความแตกต่างที่สำคัญในระดับประถมศึกษา  คือ  หลักสูตรสำหรับบุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ  ควรเน้นทักษะทางสังคม  ทั้งนี้บุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพยังขาดทักษะในการติดต่อ  ผูกมิตรกับเด็กปกติ  อาจเป็นเพราะเด็กหลายคนขาดความเชื่อมั่นในตนเอง  ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากความพิการของตนเอง  ดังนั้น  หลักสูตรในระดับนี้  ควรเน้นทักษะในทางสังคมเพิ่มเติมในหลักสูตรสำหรับเด็กปกติ
                                3. ระดับมัธยมศึกษา  หลักสูตรสำหรับบุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกาย  ควรมีลักษณะที่ไม่แตกต่างจากเด็กปกติมากนัก  เพราะ  เด็กประเภทนี้ส่วนมากต้องการได้รับการรับรองว่ามีความสามารถด้านการเรียนเท่าเทียมกับเด็กปกติ  จุดเน้นของหลักสูตรในระดับนี้อยู่ที่หมวดสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตและการเตรียมความพร้องทางด้านอาชีพ  ทั้งนี้เพื่อให้เด็กสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้เมื่อจบจากโรงเรียนไปแล้ว  ทักษะที่นักเรียนจำเป็นต้องมี  อาจได้แก่  การใช้บริการรถสาธารณะ  การดูแลรักษาบ้านเรือนของตนเอง  การดูแลรักษาสุขภาพของตน  การดูแลรักษาอุปกรณ์และเครื่องมือในการบำบัด  การใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์และการหางานทำ เป็นต้น

                                แต่อย่างไรก็ตาม  การจัดการเรียนการสอนแก่เด็กประเภทนี้  ยังต้องใช้แผนการศึกษาเฉพาะบุคคล  โดยคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้
                                1. เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกายให้มีโอกาสเรียนร่วมในชั้นปกติให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
                                2. ให้โอกาสกับเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย  ให้มีความรู้ทักษะในด้านวิชาการ  สังคม  และวิชาชีพเพื่อให้มีพัฒนาการสูงสุด
                                3. ให้โอกาสกับเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย  ให้มีความรู้และทักษะในด้านวิชาการ  การสื่อความหมาย  การคำนวณ  การรู้จักคิด  การวิเคราะห์และแก้ปัญหาด้วยตนเอง
                                4. การฝึกทักษะชดเชยกับทักษะด้านที่สูญเสียไป  เพื่อให้เด็กได้พัฒนาสูงสุดตามศักยภาพของตน
                                5. เพื่อสร้างทัศนคติที่ดีต่อตนเอง

                แนวการสอนเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ
                                1. ในชั่วโมงเรียนฝึกให้เด็กนั่งตัวให้ตรงแม้ว่าจะมีปัญหาก็ตามแต่เด็กต้องใช้ความพยายาม
                                2. ครูจะต้องทำความเข้าใจกับกลไกการทำงานของเครื่องมือต่างๆที่ติดมากับตัวเด็กเพื่อจะได้ไม่เป็นอุปสรรคในการสอนของครู
                                3. ฝึกให้เด็กใช้คอมพิวเตอร์เพื่อใช้พิมพ์แทนการเขียน
                                4. การให้เด็กเข้าร่วมกิจกรรมควรคำนึงถึงความเหมาะสมกับสภาพของเด็ก
                                5. ครูควรให้เวลาในการทำงาน หรือทำกิจกรรมให้มากขึ้น
                                6. เน้นการพัฒนาทางจิตใจเพื่อให้เด็กมีภาพพจน์ที่ดีเกี่ยวกับตนเองและยอมรับความเป็นจริง
                                7. เน้นการสื่อสารเพื่อให้สื่อความหมายกับผู้อื่นโดยสื่อหลากหลาย
                                8. จัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้มีความสัมพันธ์กับชีวิตจริงมีประโยชน์ต่อการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันมากที่สุด
                                9. ควรจัดการศึกษาพิเศษตั้งแต่ระดับอนุบาล
                                10. จัดเด็กพิการที่ไม่มีปัญหาด้านอื่นเข้าเรียนร่วมกับเด็กทั่วไป
                                11. ครูควรขอคำแนะนำจากนักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัดเพื่อช่วยให้ครูจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้เหมาะสมกับข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวของเด็กมากยิ่งขึ้น
                                12. ให้เด็กใช้ปากกาหรือดินสอที่เขียนออกง่ายโดยไม่ต้องใช้แรงกดมาก
                                13. อัดเทปให้เด็กฟังแทนการโน้ตย่อกรณีที่เป็นข้อความยาวหลายหน้ากระดาษ
                                14. สอนเป็นรายบุคคล การจัดประสบการณ์ให้เด็กเหล่านี้สำคัญมาก เพราะเด็กเหล่านี้ไม่ค่อยได้รับประสบการณ์ตรง การให้ดูภาพยนตร์ โทรทัศน์ การออกศึกษานอกสถานที่จึงเป็นสิ่งจำเป็น ครูจะต้องมีทักษะในการกระตุ้นเด็กที่มีความคับข้องใจ และเด็กที่มักแยกตัวออกไปอยู่คนเดียวให้เรียนรู้และทำกิจกรรม รวมทั้งมีทักษะในการจัดการกับอารมณ์รุนแรงของเด็ก อย่างไรก็ตามกิจกรรมการสอนบางอย่างการสอนเป็นกลุ่มก็ยังจำเป็นอย่างยิ่ง
                                15. เด็กพิการทางร่างกายและสุขภาพ ถ้าร่างกายพิการอย่างเดียวไม่มีความพิการซ้อน จะสามารถเรียนร่วมชั้นปกติได้ เพราะไม่มีความผิดปกติด้านอื่นๆ เช่น สมอง ในเด็กที่ความพิการซ้อนอยู่นั้น จำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษ
                                16. การใช้วิธีการปรับพฤติกรรม เป็นวิธีการเปลี่ยนพฤติกรรมที่เราไม่ต้องการให้เป็นพฤติกรรมที่สังคมยอมรับ โดยใช้วิธีการต่างๆ เช่น การให้รางวัล การทำสัญญา ฯลฯ
                                17. การใช้วิธีการต่างๆ ในการสอนการรับรู้ทั้งการเห็นและการได้ยิน โดยนำเอา เกม นิทาน รูปภาพ บทกลอน โคลง แบบฝึกหัด ฯลฯ มาใช้ฝึกเด็กให้สามารถบอกความแตกต่างของสิ่งที่มองเห็นหรือได้ยิน มีความประสานสัมพันธ์ของตาและการเคลื่อนไหวของร่างกาย สามารถมองเห็นความคงที่ขอรูปทรง เช่น วิธีสอนการอ่านแบบให้ดูแล้วพูดตาม การให้ฟังคำหรือประโยคแล้วหาเสียงสระหรือพยัญชนะ การให้หาสิ่งของจากรูปภาพเป็นต้น
                                18. การใช้อุปกรณ์การเรียนการสอน เช่น เครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้า แผ่นพลาสติก ครอบแป้นพิมพ์โต๊ะคอกสำหรับยืน ที่เปิดหน้าหนังสือ ฯลฯ
                                19. การเพิ่มเติมหลักสูตร อันอาจจะมีประโยชน์อย่างมากสำหรับเด็กร่างกายพิการเหล่านี้ เช่น การฝึกการเคลื่อนไหว โดยการสอนให้วางแผนการเดินทางในบริเวณโรงเรียน อาจช่วยให้บางคนประหยัดแรงงานที่เด็กพิการร่างกายมีจำกัด
                                เด็กในระดับชั้นมัธยม การสอนทักษะการเขียนเป็นสิ่งจำเป็นต้องทำต่อเนื่องทั้งการเขียนด้วยมือและพิมพ์ดีด หรือใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ และอาจจะสอนเพิ่มเติมในเรื่องของการขับรถ นันทนาการ การใช้เวลาว่าง การบริหารร่างกายต่างๆ เท่าที่จะทำได้ เช่น ว่ายน้ำ รวมทั้งเพศศึกษาด้วย
                                20. การให้ความช่วยเหลือการเรียน อาจทำได้ ดังนี้
                                    - ใช้การติดกระดาษบนโต๊ะ เพื่อเขียนหนังสือ
                                    - ผูกดินสอกับโต๊ะ จะได้หมดปัญหาในการก้มเก็บเวลาดินสอตก
                                    - อนุญาตให้เด็กตอบคำถามปากเปล่า หรืออัดเทปส่งงานแทนการเขียน
                                    - ให้สมุดจดบันทึกของครูแก่เด็กพิการที่เขียนช้าหรืออาจให้เพื่อนใช้กระดาษคาร์บอนจดให้
                                    - ให้เด็กใช้สะพายกระเป๋าสำหรับขนหนังสือและอุปกรณ์การเรียนจากห้องหนึ่งไปยังอีกห้องหนึ่งเมื่อเด็กต้องใช้ไม้ค้ำยัน
                                    - ให้เวลาสอนเด็กพิการที่เขียนช้ามากกว่าคนอื่นๆ
                                    - ให้เวลาเด็กพิการมากขึ้นหรือให้งานให้น้อยลง
                                    - ช่วยเหลือในการเคลื่อนไหว เช่น จัดสถานที่เรียนให้สะดวกแก่เด็ก
                                    - บริการด้านอุปกรณ์จำเป็น เช่น เครื่องพิมพ์ดีด โต๊ะคอกสำหรับยืน

                การประเมินผล
                                การประเมินผลตามหลักสูตร เป็นการประเมินทักษะเพื่อสำรวจความสามารถขั้นพื้นฐานของผู้เรียน เพื่อวัตถุประสงค์ในการวางแผนการเรียนการสอนและเพื่อติดตามความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งการประเมินผลควรยืดหยุ่นตามศักยภาพของผู้เรียนแต่ละคน ซึ่งควรจะมีการประเมินผลจากการใช้แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลเป็นส่วนสำคัญอีกทางหนึ่ง               

                สิ่งอำนวยความสะดวก
                                1. กายอุปกรณ์ และเครื่องช่วยคนพิการ มีความต้องการกายอุปกรณ์ และเครื่องช่วย คนพิการที่สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละคน เช่น เหล็กประคองขา แขนเทียม เฝือกดามมือ รองเท้าพิเศษ เครื่องช่วยเดิน ไม้ค้ำยัน และเก้าอี้ล้อ เป็นต้น ซึ่งกายอุปกรณ์และเครื่องช่วยคนพิการ อาจต้องปรับหรือเปลี่ยนแปลงเป็นระยะๆ เพื่อให้เหมาะสมตามสภาพร่างกายหรือการเจริญเติบโต


                                2. การปรับสภาพสิ่งแวดล้อม แม้จะมีความสามารถเคลื่อนไหว เดินทาง หรือประกอบกิจกรรมได้โดยใช้กายอุปกรณ์หรือเครื่องช่วยคนพิการ แต่บุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกายและ สุขภาพยังต้องการการปรับสภาพสิ่งแวดล้อมเพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนไหว เช่น พื้นทางเดิน ห้องน้ำ ประตู โต๊ะ เก้าอี้

                สื่อและอุปกรณ์พิเศษ
                บุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น แขนขา นิ้ว มือ และลำตัว ดังนั้นจึงต้องการสื่อ และอุปกรณ์ ที่ช่วยในการหยิบจับ ใช้สิ่งของ และขีดเขียน อาทิ หนังสือที่มีแผ่นกระดาษหน้าเป็นพิเศษ เพื่อช่วยให้ เปิดได้ง่าย ดินสอแท่งใหญ่ ช้อนด้ามยาวพิเศษ สวิทช์ที่เปิด - ปิด โดยการใช้ฝ่ามือ เครื่องช่วยพูด (สำหรับคนพิการทางร่างกายที่ไม่สามารถสื่อสารได้ด้วยการพูด) สายรัดมือ การช่วยเหลือ แม้มีสิ่งอำนวยความสะดวก กายอุปกรณ์ เครื่องช่วยคนพิการ สื่อ และอุปกรณ์พิเศษ แต่ตนพิการที่มีข้อจำกัดมาก ยังจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือในลักษณะต่าง ๆ อีกด้วย เช่น ช่วยป้อนอาหาร ช่วยเคลื่อนย้ายขึ้นหรือลงจากรถเข็น ช่วยเข็นรถเข็นคนพิการ และอุ้มขึ้นบันไดในอาคาร ที่ไม่มีทางลาดให้กับรถเข็น









2 ความคิดเห็น:

  1. มีที่มาขอข้อมูลไหมคะ

    ตอบลบ
  2. Grand Casino Hotel and Spa, Las Vegas, NV | MapYRO
    Welcome to Grand Casino Hotel and Spa, 보령 출장마사지 Las Vegas. Our rooms are perfect for families staying 전라남도 출장샵 at the 토토사이트 hotel. Book direct, online 속초 출장샵 or call us today!

    ตอบลบ